Pin It

 

 

"แกงผำ" เมนูอาหารสุขภาพดี หาทานได้ยาก พร้อมสูตร อย่างง่ายๆ วิธีทำรวมเครื่องปรุงที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร laughing ภาพชุดนี้ไม่อยากใช้แฟลช รอบนี้ทำอาหารกลางดึก เลยเร่ง ISO ไปถึง 1600 โหมด AV แล้วชดเชยแสงกันไป อาจจะมีแสงสะท้อนจากไฟนีออนห้องครัวปะปนมาบ้าง ชัดบ้าง เบลอบ้าง แต่พอได้ใจความ คงไม่ลำบากในการอ่านเท่าไหร่นะคะ ^@^

ผำ มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ไข่ผำ หมากไข่ผำ ไข่น้ำ ไข่่แหน เป็นต้น เป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีรสชาติมันๆ กรุบๆ ที่สำคัญคือ อร่อยดีค่ะ (ข้อมูลเพิ่มเติม อ่านที่นี่) http://anggate.multiply.com/journal/item/5
อาจเรียกได้ว่าเป็นของหายาก เป็นของตามฤดูกาล คือจะเริ่มมีในช่วงเข้าหน้าฝน เดิมเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แหล่งน้ำจืดที่มีระบบนิเวศที่ดี ปัจจุบันได้มีการวิจัยสามารถเพาะเลี้ยงจำหน่ายได้แล้ว แต่ก็ยังคงมีตามฤดูกาลอยู่ดีค่ะ อาจจะพอหาซื้อได้ตามตลาดนัด ปีนึงจะเจอซักช่วง 1-2 เดือนในช่วงต้นฤดูฝน ถ้าแม่ค้ารู้จักและนำมาขาย แต่ถ้าทางอีสานหรือภาคเหนือ คงหาซื้อได้ง่ายหน่อย และราคาถูกกว่ากันเยอะเลยค่ะ

วันอาทิตย์ที่แล้ว เจอโดยบังเอิญ แม่ค้าขายโลละสี่สิบ (ซึ่งถือว่าราคาถูกของที่นี่) วันนั้นมี 2 โล เลยเหมาหมดด้วยความโลภ tongue-out จ่ายไปแปดสิบบาท

 

หน้าตา ผำสดๆ ผำตัวเป็นๆ มันเป็นอย่างงี้ ... สีเขียวใส ดูดีๆ ก็เรียกได้ว่า สวยมาก kisslaughing แต่เมื่อผำโดนความร้อนแล้วสีจะเปลี่ยนไป ไว้ดูจากภาพกันเองนะคะ ... อิอิ ครั้งที่ทำให้น้องชายที่บ้านทานครั้งแรก ได้ชื่อเรียกมาใหม่ว่า “แกงไข่กุ้งวาซาบิ(อีสาน)” เพราะเม็ดผำและไข่กุ้งมีขนาดที่เล็กพอกัน ฟังดูอัพเกรดขึ้นไปได้อีก smile

ผำ ไม่กินสด นอกจากเอามาทำเป็น แกง แล้วยังเอามาทำ คั่ว, ผัด, ไข่เจียวผำ, และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ส่วนผสม
1. ผำ
2. เครื่องแกง ประกอบด้วย ข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกสด ใบมะกรูด
3. ใบแมงลัก (บางคนใช้ใบโหระพาแทน)
4. หมู หรือ ไก่ ตามชอบ (ปกติจะใช้เครื่องในไก่ แต่รอบนี้ใช้ซี่โครงหมูกับหมูสับค่ะ) หมักด้วยน้ำมันหอย ซีอิ้วขาว และเกลือเล็กน้อย หากใส่หมูน้อยต้องเพิ่มผงซุป หรือซุปก้อนช่วยให้รสกลมกล่อมแทน
5. น้ำปลา (สูตรอีสานอาจเพิ่มน้ำปลาร้าตามชอบ ... แต่รอบนี้ไม่ใส่ปลาร้าค่ะ)

วิธีทำไม่ยาก แต่สิ่งที่อาจจะเรียกว่ายากที่สุดต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ “การล้างผำ” เนื่องจากผำมีลักษณะเป็นเม็ดค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก จึงต้องมีเทคนิคเข้าช่วยกันสักหน่อย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการล้างไป ทิ้งผำไป กว่าจะได้ลงมือปรุงอาหาร อาจจะเหลือผำไม่ถึงครึ่งของที่มี laughing  ซึ่งวิธีล้างผำ จะต้องใช้ผ้าขาวบางหรือผ้าสาลูขนาดที่สามารถห่อผำได้ มีขายทั่วไป (ขนาดใหญ่ไว้ก่อนจะล้างผำได้ง่ายกว่า) เราจึงมีวิธีล้างผำที่สะอาดและสูญเสียผำน้อยที่สุดมาฝากกันค่ะ

ล้างผำ ต้องมีผ้าผืนนี้  ผำสด ใช้ช้อนหรือทัพพีตัก ผ้าขาวบางรองด้วยกะละมังขนาดพอดี
ผำสด ใส่น้ำล้าง แค่ท่วมผำก่อน
 รวบผ้าให้ปิดสนิท กำผ้าที่รวบไว้ให้แน่นๆ  เปิดน้ำเพิ่มราดไปบนผ้าที่ห่อผำ เหวี่ยงและหมุนในน้ำ 
เทน้ำทิ้ง และเปิดน้ำใส่ใหม่ ล้างจนกว่าจนกว่าน้ำจะใส ไม่ขุ่น ไม่มีสี เสร็จแล้วพักไว้

 

ซี่โครงหมู เครื่องแกง (ข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกสด ใบมะกรูด) ใบแมงลัก
     

 จากนั้นก็เตรียมเครื่องแกง สำหรับทำแกงผำ ได้แก่ ข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกสด หั่นและโขลกรวมกัน - ซี่โครงหมู ล้างให้สะอาด - เตรียมใบมะกรูดและใบแมงลัก เด็ดใบและยอด ล้างให้สะอาด พักไว้ (ถ้ามีต้นหอม ผักชี สามารถนำมาหั่นยาวประมาณ 1 นิ้ว รวมกันไว้ได้)

ขลกข่าตะไคร้ให้ละเอียด แล้วใส่หอมแดงและพริกตามไป โขลกรวมกันให้ละเอียด (จะใส่ผงปรุงรสลงได้ด้วยก็ได้) ตักใส่หม้อคลุกเคล้ากับซี่โครงหมู หมักไว้ 2-3 นาที
เติมน้ำสะอาดสำหรับเคี่ยวหมูให้เปื่อยแล้วเหลือน้ำแกงไว้พอขลุกขลิก ตั้งไฟกลาง ประมาณ 30-40 นาที เคี่ยวหมูให้เปื่อยเล็กน้อย ใส่พริกเม็ดลงไปเพิ่มสีสันสำหรับคนชอบทานเผ็ด

 

เตรียมผำที่ล้างไว้แล้ว ลดไฟอ่อน ใช้ทัพพีตักผำลงหม้อแกง เศษผำที่ติดก้นผ้า ถ้ามีสีน้ำตาล ไม่เอา ให้ทิ้งไปเลย
ไม่ต้องเติมน้ำคนให้เข้ากัน เร่งไฟขึ้นเล็กน้อย เมื่อโดนความร้อน ผำจะมีสีเข้มขึ้น และมีน้ำจากผำเพิ่มขึ้นมา เวลาน้ำเดือด ระวังผำกระเด็น เมื่อผำสุกจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวขี้ม้าเข้มๆ ใส่เกลือเล็กน้อย ชิมและปรุงรสด้วยน้ำปลา ให้พอดี
ใส่ใบแมงลักลงไป คนให้ทั่วแล้วปิดไฟทันที (ห้ามปิดฝาหม้อ) เสร็จแล้วตักใส่ชาม พร้อมเสริฟ
     

หากไม่ชอบซีโครงหมู ก็อาจจะใช้เนื้อไก่และเครื่องในไก่แทนก็ได้ ทั้งนี้แกงผำยังสามารถทำเป็นสูตรเจหรือมังสวิรัติได้ด้วย โดยใช้เห็ดแทนเนื้อสัตว์ เช่นเห็ดนางรวมหลวง เห็ดเออรินจิ เห็ดหอมสด เห็ดหูหนูดำ เห็ดชิเมจิ เป็นต้น ก็จะได้ความหลากหลายที่เอร็ดอร่อยได้เหมือนๆกัน หากใครสนใจนำไปลองทำทานดู ได้ทั้งความอร่อยและสุขภาพดี คุ้มค่าแน่นอนค่ะ

----------------------------

Photo & story written by Ang Gate
28 May 2008
Facebook Page: ครัวเต็มอิ่ม Krua TEM IM

ผำ,ไข่แหน, ไข่น้ำ ไข่ผำ หรือ ไข่ขำ (Wolffia globosa) เป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด จัดอยู่ในวงศ์ Lemnaceae สกุล Wolffia อาศัยลอยอยู่บนผิวน้ำ และอาจลอยอยู่เป็นกลุ่มปนกับพืชชนิดอื่น ผำเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง ถือว่าเป็นพืชที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งมีน้อยคนจะรู้จัก สำหรับ ไข่ผำ คนเหนือเรียก ผำ ภาคกลางเรียก ไข่น้ำ ส่วนคนอีสานเรียก ไข่ผำ

ไข่ผำ เป็นพืชน้ำ ลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มีขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน เวลาเก็บไข่น้ำ ต้องใช้สวิงช้อนขึ้นมา แล้วล้างให้สะอาดก่อนจะนำไปปรุงทำอาหาร ไข่ผำ เป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือผัด บางที่ก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น

ไข่ผำ นอกจากจะใช้เป็นอาหารคนและสัตว์แล้ว ยังมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย โดยผำจะช่วยให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำมีค่าสูงขึ้น ความเป็นกรดด่างอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นกลาง และค่าความขุ่นของน้ำเสียมีค่าต่ำลง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ไข่ผำจากการบำบัดน้ำเสียไปรับประทาน เพราะอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายจากน้ำเสียสะสมในผำ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ไข่ผำจัดได้ว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง ควรส่งเสริมให้มีการผลิตและบริโภคมากยิ่งขึ้น

ไข่ผำ เป็นอาหารของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกหลายชนิด นอกจากนี้ ไข่ผำยังมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก คนเหนือและอีสานของประเทศไทยนำมาประกอบเป็นอาหาร ผำมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร ก่อนนำมารับประทานต้องปรุงให้สุกก่อน

ในไข่ผำ 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง วิตามินซี ไนอะซิน และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีน ไลซีน วาลีน ฟีนิวอลานีน ธีโอนีน ไอโซลิวซีน และมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก คลอโรฟิลล์ในผำ เป็นสารสีเขียวที่พบในพืช โครงสร้างมีลักษณะคล้ายฮีมที่อยู่ในฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเลือด มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการท้องผูก ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียด หรือร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และช่วยรักษาภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง

ดูข้อมูลเพิ่มเติม / อ้างอิง

 

----------------------------

 

 

 

 

Pin It